วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วันลอยกระทง

วันลอยกระทง



        วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา "มักจะ" ตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
 
      ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย

ประวัติ



เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป[ต้องการอ้างอิง] แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่1


       ปัจจุบันวันลอยกระทงเป็นเทศกาลที่สำคัญของไทย ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยวปีละมากๆ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะเป็นช่วงต้นฤดูหนาว และมีอากาศดี
       ในวันลอยกระทง ยังนิยมจัดประกวดนางงาม เรียกว่า "นางนพมาศ"
       
       ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณ โดยมีคติความเชื่อหลายอย่าง เช่น เชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมา แม่พระคงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น การลอยกระทงนิยมทำกันในวันเพ็ญ เดือน 12 ของทุก ๆ ปี อันเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลำคลองขึ้นสูงและ อากาศเริ่มเย็นลง ตามพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทงสำหรับลอยประทีป เป็นรูปดอกบัวบานขึ้น ซึ่งคนทั่วไปนิยมทำตามสืบต่อมา นอกจากนั้นในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังได้กล่าวถึงงานเผาเทียน เล่นไฟ ของกรุงสุโขทัยไว้ด้วยว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้ผู้รู้ทั้งหลายสันนิษฐานต้องตรงกันว่า งานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

          ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)


         จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุกๆปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า

         จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"

         จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

       ภาคอีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น

         จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า "สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป" ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง การประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง11 หัวเมือง

         จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

         จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า "ไหลเรือไฟ"โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน

       ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด

         กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง

         จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

       ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

       **นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา**

ความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทง


        เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ
ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพระยามารได้

โมเสส

โมเสส


     คือผู้นำศาสนาของชนชาติยิวก่อนที่จะมีพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู โมเสสเป็นทั้งผู้บัญญัติกฎ ผู้พยากรณ์ นักประวัติศาสตร์ และยังเป็นผู้ถ่ายทอดคัมภีร์โตราห์หรือหนังสือห้าเล่มในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับพันธสัญญาเดิม อีกทั้งยังเป็นผู้พยากรณ์คนสำคัญของอิสลามและศาสนาบาฮาอี

     โมเสส ในพระคริตสธรรมคัมภีร์

    อัตชีวประวัติของท่านที่ได้บันทึกไว้ในพระธรรมเบญจบรรณ (พระคัมภีร์ห้าเล่มแรก ที่เชื่อกันว่า โมเสสเป็นผู้เรียบเรียงขึ้น)
ต้นตระกูลโมเสส


             พระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวไว้ว่า โมเสสเกิดในตระกูลเลวี บิดาชื่อ อับราม มารดาชือ โยเคเบด มีพี่ชาย คือ อาโรน[1] ก่อนหน้าโมเสสเกิด ฟาโรห์แห่งอียิปต์ เห็นว่าชาวยิวมีจำนวนมากและแข็งแกร่ง จึงต้องการลดปริมาณชาวยิวลง โดยมีคำสั่งให้อิสราเอลนำเด็กเกิดใหม่ที่เป็นเพศชาย ทิ้งลงแม่น้ำไนล์ แต่มารดาของโมเสสได้ซ่อนโมเสสไว้ จนกระทั่งถึงวัยที่ไม่สามารถจะหลบซ่อนได้อีก มารดาจึงนำโมเสสใส่ตะกร้าวางไว้ในกอไม้ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ เมื่อธิดาฟาโรห์ลงมาสรงนำ จึงเจอทารกน้อยโมเสส จึงนำไปเลี้ยงดู ชื่อของโมเสส แปลว่า "ฉุดขึ้นมาจากน้ำ" โมเสสได้โตขึ้นมาโดยมีมารดาเป็นแม่นมของตนเอง

     โมเสสฆ่าคนอียิปต์


แม้โมเสสจะโตขึ้น โดยการเลี้ยงดูของธิดาฟาโรห์ แต่ยังคงเป็นคนรักในความเป็นอิสราเอล และพบเห็นว่าคนอิสราเอลต้องตรากตรำทำงานหนัก วันหนึ่งขณะโมเสสไปอยู่ท่ามกลางชาวอิสราเอล พบชาวอียิปต์กำลังตีคนอิสราเอล เมื่อมองดูว่าไม่มีใคร โมเสสจึงฆ่าชาวอียิปต์คนนั้น และฝังซ่อนไว้ในทราย

วันรุ่งขึ้น ขณะโมเสสกำลังเดินอยู่ พบชาวอิสราเอลกำลังทะเลาะกัน จึงเข้าไปเตือน แต่กลับถูกย้อนว่า "ใครตั้งท่านให้เป็นเจ้านาย และเป็นตุลาการปกครองข้าพเจ้า ท่านตั้งใจจะฆ่าข้าพเจ้า เหมือนกับที่ได้ฆ่าคนอียิปต์คนนั้นหรือ"

เมื่อโมเสสได้ยินดังนั้น ก็ตกใจ และทราบว่าเรื่องนี้ลือกันไปทั่วแล้ว จึงหลบหนีออกไปอยู่ที่เมืองมีเดียน โดยอาศัยอยู่กับเยโธร ปุโรหิตของเมืองนั้น

     ทรงเรียกโมเสส



       ภายหลังจากฟาโรห์สิ้นพระชนม์ ชาวอิสราเอลก็คร่ำครวญกับพระเจ้า พระองค์จึงทรงระลึกถึงชนชาวอิสราเอล พระองค์จึงทรงไปปรากฏต่อหน้าโมเสส เพื่อเป็นผู้นำอิสราเอลให้ออกจากอียิปต์ ไปยังดินแดนคานาอัน อันเป็นดินแดนที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอับราฮัมว่าจะยกให้แก่พงศ์พันธุ์ของท่าน


เมื่อพระเจ้าทรงเรียกโมเสสนั้น ทรงกระทำหมายสำคัญ 3 ประการเพื่อให้โมเสสตอบรับหน้าที่นี้ หมายสำคัญทั้งสามประการได้แก่

พระเจ้าทรงให้โมเสส โยนไม้เท้าลงบนพื้น และไม้เท้านั้นก็กลายเป็นงู และเมื่อโมเสสจับหางงู งูนั้นก็กลายเป็นไม้เท้าดังเดิม

พระเจ้าทรงให้โมเสส สอดมือไว้ที่อก เมื่อชักมือออกมา มือนั้นก็กลายเป็นเรื้อน และเมื่อสอดมือไว้ที่อกอีกครั้ง มือนั้นก็เป็นปกติ พระเจ้าทรงให้โมเสสตักน้ำมา และเทลงบนพื้น น้ำนั้นก็กลายเป็นเลือดบนดินนั้น แต่ถึงกระนั้น โมเสส ก็ยังคงมีข้อต่อรองกับพระเจ้า ด้วยโมเสสบอกว่าตนเองพูดไม่เก่ง เกรงว่าชาวอิสราเอลจะไม่ยอมฟัง พระเจ้า จึงให้อาโรน พี่ชายของโมเสส ซึ่งเป็นคนพูดเก่ง เป็นผู้ช่วยของเขา
ดังนั้นโมเสสจึงได้ลาพ่อตา และเดินทางกลับไปยังอียิปต์ และพบกับอาโรนเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าให้สำเร็จต่อไป เมื่อโมเสสได้ไปเข้าเฝ้าฟาโรห์ที่อียิปต์ครั้งนี้ โมเสสมีอายุ 80 ปี และอาโรนมีอายุ 83 ปี

     เหตุการณ์สำคัญ

เมื่อโมเสสเข้าเฝ้าฟาโรห์ในครั้งนั้น โมเสสทูลขอให้ฟาโรห์ปล่อยอิสราเอลให้ไปนมัสการพระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร (ทะเลทราย) ฟาโรห์ทรงมีพระทัยแข็งกระด้าง และไม่ยินยอมให้อิสราเอลไป ในครั้งนั้น โมเสส และ อาโรน จึงได้รับบัญชาจากพระเจ้าในการทำให้เกิดภัยพิบัติแก่อียิปต์ ถึง 10 ประการ จนในที่สุด ฟาโรห์ และเหล่าข้าราชบริพารจึงพากันขับไล่อิสราเอลออกไปจากอียิปต์

ก่อนภัยพิบัติครั้งสุดท้าย พระเจ้าทรงให้โมเสสนำอิสราเอลประกอบพิธีปัสกาขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความเป็นอิสราเอลไว้ เพื่อในคืนนั้นพระเจ้าจะผ่านเลยบ้านที่มีเลือดแกะปัสกาป้ายอยู่ แต่บ้านชาวอียิปต์พระเจ้าจะทรงนำเอาบุตรหัวปีของพวกเขาไป พิธีปัสกา จึงเป็นพิธีที่อิสราเอลเฉลิมฉลองถึงเหตุการณ์ความเป็นไท ในครั้งนี้

เมื่อเดินทางมาริมทะเลแดง กองทัพอียิปต์ก็ติดตามอิสราเอลมา เพื่อตามอิสราเอลกลับไปเป็นทาสดังเดิม ครั้งนี้ พระเจ้าทรงให้โมเสสชูไม้เท้าขึ้นเหนือน้ำ ทำให้ทะเลแดงแหวกออก เป็นทางเดินให้อิสราเอลเดินข้ามไป แต่เมื่อกองทัพอียิปต์จะข้ามตาม ทะเลก็กลับคืนดังเดิม และท่วมกองทัพอียิปต์ตายไปเสียสิ้น

เมื่อเดินทางถึงภูเขาซีนาย พระเจ้าทรงเรียกโมเสส ขึ้นไปเข้าเฝ้าพระพักตร์พระองค์ แบบหน้าต่อหน้า และที่ภูเขาซีนายนี่เอง ที่พระเจ้าทรงประทานบัญญัติ 10 ประการมาให้อิสราเอล และประทานกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ ให้แก่พวกเขา

เมื่อออกเดินทางจากภูเขาซีนาย ก็เข้าสู่เขตแดนคานาอัน ในครั้งนั้น โมเสสส่งผู้สอดแนม จากบรรดาหัวหน้าในคนอิสราเอล จำนวน 12 คน (ตามเผ่าของอิสราเอล) ไปดูลาดเลาในคานาอัน ในจำนวนนั้น ยกเว้น โยชูวา และ คาเล็บ ต่างพากันให้ร้ายแก่แผ่นดินคานาอันนั้น เป็นเหตุให้คนอิสราเอลทั้งหลายไม่ยอมเดินทางเข้าแผ่นดินคานาอันตามที่พระเจ้าทรงบัญชา เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้อิสราเอลต้องใช้ชีวิตอยู่ในทะเลทราย เป็นเวลา 40 ปี นับตามจำนวนวันที่ผู้สอดแนมเดินทางไปดูลาดเลาแผ่นดินนั้น และบรรดาอิสราเอลที่มีอายุเกิน 20 ปีในวันนั้น ยกเว้น โยชูวา และ คาเล็บ ล้วนไม่มีใครได้เข้าไปในแผ่นดินคานาอันเลย

ขณะเมื่ออยู่ในทะเลทราย ช่วง 40 ปีอันโหดร้ายนั้น ครั้งหนึ่งเกิดการกันดารน้ำ ชาวอิสราเอลจึงมาต้ดพ้อโมเสส ในครั้งนี้พระเจ้าตรัสสั่งให้โมเสส ออกไป "บอก" ก้อนหินให้หลั่งน้ำ เพื่อได้มีน้ำใช้ แต่ครั้งนั้นอิสราเอลทำให้โมเสส และอาโรนโกรธอย่างมาก จึงใช้ไม้เท้า ตี หินสองครั้ง น้ำจึงไหลออกมา เหตุการครั้งนั้น พระเจ้านับว่าทั้งสองไม่เชื่อฟังพระองค์ อาโรนและโมเสสจึงไม่ได้สิทธิในการเข้าไปในแผ่นดินคานาอัน

     ชีวิตครอบครัว

   เมื่อโมเสสไปอาศัยอยู่กับ เรอูเอล ปุโรหิตแห่งเมืองมีเดียนนั้น เยโธร ได้ยก ศิปโปราห์ บุตรสาวของตนให้โมเสส และมีบุตร ชื่อ เกอร์โชม

     บั้นปลายชีวิต

   โมเสสใช้เวลาปกครองอิสราเอล และนำอิสราเอลเดินทางผ่านทะเลทราย เป็นเวลา 40 ปี เมื่อท่านอายุได้ 120 ปี ก็สิ้นชีวิต โดยมิได้เข้าไปในแผ่นดินคานาอัน แผ่นดินแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า เพราะการไม่เชื่อฟังพระเจ้าเพียงครั้งเดียว[8] ตามบันทึกพระคัมภีร์กล่าวว่า ศพของโมเสส ถูกฝังไว้ในเขตแดนก่อนเข้าแผ่นดินคานาอันนั่นเอง