วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระแม่มารี


ประวัติพระนางมารีอา

เราพอจะเล่าประวัติของพระนางมารีอาได้ดังนี้ ท่านนักบุญอากิม(Saint Joachim) และนักบุญอันนา(Saint Anna) เป็นบิดาและมารดาของพระนางมารีอา เดิมไม่มีบุตร เนื่องจากนักบุญอันนาเป็นหมัน ท่านทั้งสองภาวนาต่อพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงฟังคำภาวนาของท่านทั้งสอง จึงได้ให้นักบุญอันนาบังเกิดบุตรี ชื่อว่า มารีอา
    พระนางมารีอาถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า โดยตั้งใจจะถือพรหมจรรย์ เมื่อถึงเวลาอันควรก็ต้องแต่งงานกับชายคนหนึ่งเพื่อเป็นคู่อุปถัมภ์ พระนางมารีอาได้หมั้นกับนักบุญยอแซฟ ซึ่งเป็นเวลาที่เทวดาคาเบรียลมาแจ้งแก่พระนางว่าจะตั้งครรภ์

เมื่อนักบุญยอแซฟทราบท่านก็ไม่เข้าใจ และคิดจะถอนหมั้นเงียบๆเพราะท่านเป็นคนชอบธรรม แต่เทวดาได้มาแจ้งแก่ท่านในฝันว่า ให้รับพระนางมารีอาไว้เป็นภรรยา เพราะบุตรที่เกิดมาคือองค์พระมหาไถ่ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นไปโดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า

เราเห็นถึงความรักต่อพระเป็นเจ้าที่พระนางมารีอาแสดงออกในชีวิตอันเป็นแบบอย่างดีแก่เรา ในการรับใช้พระเป็นเจ้าด้วยการทำตามน้ำพระทัยของพระในชีวิตของเรา แม้ท่ามกลางความทุกข์ลำบาก "แม่พระมหาทุกข์ 7 ประการ" คือวันฉลองวันหนึ่งในพิธีกรรมคาทอลิกที่พิจารณาถึงความทุกข์ในชีวิตของแม่พระ อันมีเหตุการณ์ยากลำบาก 7 ประการใหญ่ คริสตชนใช้รำพึง และใคร่ครวญถึงชีวิตที่รักพระ ด้วยการร่วมทุกข์ในแผนไถ่บาปอย่างที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ไถ่บาปมนุษย์ หากเราเข้าใจความทุกข์ในแง่นี้ เราก็จะสามารถมีชีวิตและบรรลุถึงเมืองสวรรค์ได้ การยอมรับน้ำพระทัยของพระเพื่อเข้าร่วมส่วนในมหาทรมานของพระเยซูเจ้าชดเชยบาป และไถ่บาปมนุษย์ทุกคน
คัดจากหนังสือ " ความเชื่ออันเป็นชีวิต" โดย พงศ์ ประมวล หนังสืออันดับที่ 117 จากการพิมพ์คาทอลิกประเทศไทย
พระนาม "มารีย์" อาจมีความหมายได้ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1. " มารีอา " ภาษาฮีบรู แปลว่า " ดาวทะเล หรือ ดาราสมุทร "

2. " มารีอา" ภาษาซีเรียน แปลว่า " คุณนาย " (Our Lady, Notre Dame, Ma(Mia) Donna)

3. "มารีอา" ภาษาอียิปต์ แปลว่า " ผู้ที่พระเจ้าทรงรัก โปรดปราน" ในสมัยพระเยซูเจ้ามีผู้ตั้งชื่อนี้กันมาก คนแรกที่ใช้ชื่อนี้คือ

พี่สาวของโมเสส(มีเรียม = มารีอา) สมัยชาวอิสราเอล ตกเป็นทาสของชาวอียิปต์

ในสมัยพระเยซูเจ้ามีผู้ตั้งชื่อนี้กันมาก คนแรกที่ใช้ชื่อนี้คือ

พี่สาวของโมเลส (มีเรียม = มารีอา) ในสมัยที่ชาวอิสราเอลตกเป็นทาสของชาวอียิปต์

ตำแหน่งหรือเกียรติที่คริสตชนนิยมถวายแด่พระนางมารีย์ คือ ตำแหน่งพระแม่ - พระมารดา เป็นตำแหน่งที่มีระบุไว้ในพระวรสาร เมื่อพระเยซูเจ้าจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์ได้มอบยอห์นให้เป็นลูก และมอบพระนางมารีย์เป็นแม่ (เทียบ ยน.19:26-27)

นับตั้งแต่สมัยพระสันตะปาปาซิกส์โตที่ 4 ในศตวรรษที่ 15 เรื่อยมา คำสอนเกี่ยวกับพระแม่มารีย์ มารดาของชาวเรา ได้รับการอธิบายและเน้นเด่นชัด พระมารดาเป็นมารดาของชาวเรา ในความหมาย 3 ประการคือ

1) ในความหมายเปรียบเทียบ พระนางมารีย์บำเพ็ญพระองค์เหมือนแม่ ภาวนาวอนขอพระหรรษทานเพื่อลูก

2) ในความหมายเป็นแม่เลี้ยงหรือแม่บุญธรรม เพราะพระเยซูเจ้าทรงยกพระนางให้เป็นแม่ของชาวเรา

3) ในความหมายเป็นแม่จริงๆ คือ ถ่ายทอดวิญญาณให้เรา โดยการให้กำเนิดชีวิตเหนือธรรมชาติ (เป็นผู้ร่วมไถ่บาป)

สังคายนาแห่งเมืองเอเฟซัส (ค.ศ.431) ประกาศว่า พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาพระเจ้า ( Theotokos – Mater Dei ) หมายความว่า พระเยซูเจ้าซึ่งเป็นพระบุตรของพระแม่มารีย์ทรงเป็นมนุษย์แท้และพระเจ้าแท้ พระแม่มารีย์ซึ่วเป็นมารดาของพระเยซูเจ้าทั้งครบ ก็ย่อมได้รับสมญานามว่า มารดาพระเจ้า
พระนางพรหมจารี เป็นตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งของพระแม่มารีย์ ในวัฒนธรรมยิวคริสต์

พรหมจารีหมายถึง บุคคลหรือกลุ่มชนที่ถวายตัวแด่พระเจ้า และยืนหยัดสัตย์ซื่อต่อพระองค์ พรหมจารีต้องเป็นผู้รักษาความบริสุทธิ์ทางกายทั้งครบ เพื่อเป็นเครื่องหมายความสัตย์ซื่อ และการถวายตัวแด่พระเจ้าอย่างแท้จริง การถวายตัวเป็นพรหมจารีเช่นนี้ ทำให้พระนางมารีย์เป็นทั้งพรหมจารีและมารดา เพราะความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าทำให้เกิดความสมบูรณ์ทางวิญญาณ

พระคุณพิเศษที่พระแม่มารีย์ได้รับจากพระเจ้าเหนือกว่ามนุษย์ใดๆ คือ การปฏิสนธินิรมล เทวดาคาเบรียลยืนยันพระคุณนี้ โดยการทักทายพระนางว่า วันทามารีอา เปี่ยมด้วยหรรษทาน.......

สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ทรงประกาศการปฏิสนธินิรมลของพระแม่มารีย์ เป็นข้อความเชื่อในสมณสาสน์ Ineffabilis Deus เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854

พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ทรงประกาศการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณเป็นข้อความเชื่อในสมณสาสน์ Munificentissimus Deus เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1950

* ความศรัทธาต่อแม่พระ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอัครสาวก

* ผู้นิพนธ์พระวรสารยกย่องพระแม่มารีย์เช่น นักบุญลูกา ( ลก.1 : 43, 11: 28 ) นักบุญมาร์โก ( มก. 3: 35 ) นักบุญยอห์น ( ยน.2: 1-12 ) นักบุญเปาโล

* ในศตวรรษที่ 2 พูดถึงพระเม่มารีย์ว่าเป็น เอวาใหม่ หลังจากประกาศข้อความเชื่อที่เมืองเอเฟซัส ( ค.ศ.431 ) ว่า พระนางเป็นมารดาพระเจ้าความศรัทธาต่อพระปม่มารีย์ได้แผ่วงกว้างไกลยิ่งขึ้น มีวัดถวายแด่พระแม่มารีย์มากมาย มีบทภาวนาต่างๆ สรรเสริญแม่พระเช่น Ave Maria Stella, Salve Regina ส่วนบทวันทามารีอาเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6

* ในศตวรรษที่ 7 พระศาสนจักรตะวันตกเริ่มรับเอาการฉลองอื่นๆ เกี่ยวกับแม่พระ ซึ่งพระศาสนจักรทางตะวันออกมีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้เพราะพระสันตะปาปาในช่วงนั้นคือ Theodore I และ Sergius I เป็นชาวกรีก วันฉลองเหล่านี้ได้แก่

1) แม่พระถือศีลชำระ (ถวายพระกุมารในวิหาร)

2) แม่พระรับสาร

3) แม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

4) แม่พระทรงบังเกิด

สังคายนาวาติกันที่ 2 ได้ปรับปรุงความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ตามหลักเทววิทยาเสียใหม่ หลักสำคัญที่สุด คือ การที่พระนางทรงเป็นมารดาของชาวเรา

ความศรัทธาต่อแม่พระแสดงออกได้ 3 ทาง คือ

1) การเคารพนับถือพระนาง

2) การวิงวอนของพระนาง

3) การเลียนแบบอย่างพระนาง

อนึ่งความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ มิใช่การนมัสการ เพราะการนมัสการเราใช้กับ พระเจ้าเท่านั้น เราเคารพนับถือพระแม่มารีย์เป็นพิเศษเหนือนักบุญและเทวดาเท่านั้น

ทำไม....คริสตชนคาทอลิก มีความศรัทธาภักดีต่อ “ แม่พระ ”
คริสตชนนิกายโรมันคาทอลิก มีความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารี คริสตชนเรียกว่า “ แม่พระ ”
   คำว่า “ แม่พระ ” เป็นคำที่ยกย่องพระนางมารีอาตั้งแต่สมัยศตวรรษแรกๆ บรรดาคริสตชนถึงกับถวายพระนามว่า “ พระมารดาพระเจ้า ” ( Mater Dei ) นักเทววิทยาได้อธิบาย และอ้างข้อความในพระคัมภีร์สนับสนุนข้อความเชื่อนี้ และข้อความเชื่ออื่นๆ อีกหลายประการเกี่ยวกับพระนางมารีอา เช่น “ แม่พระเป็นผู้ปฏิสนธินิรมล ” หมายถึง พระนางมารีอาบังเกิดมาในโลกโดยปราศจากบาปกำเนิดได้รับการยกเว้นจากพระเป็นเจ้า มิให้ต้องแปดเปื้อนด้วยบาปความผิดพลาดที่ตกทอดมาจากอาดัมและเอวา
“ แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ” เป็นความเชื่อว่าเมื่อพระนางมารีอาสิ้นใจ ได้รับเกียรติจากพระเป็นเจ้าให้ออกมาจากโลกนี้ พร้อมทั้งร่างกายและวิญญาณไปสู่สวรรค์ คริสตชนยุคแรกๆ เชื่อกันมาดังนี้เป็นเวลายาวนาน ก่อนที่พระสันตะปาปาจะประกาศ เป็นข้อความเชื่อที่คริสตชนต้องเชื่อเสียอีก
แต่คริสตชนมีความศรัทธาภักดีต่อแม่พระ ก็เนื่องจากชีวิตและฤทธิ์กุศล ความดีงามต่างๆ ในชีวิตของพระนาง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราในการดำเนินชีวิตคริสตชน ฤทธิ์กุศลที่สำคัญในชีวิตแม่พระคือ ความบริสุทธิ์ หมายถึง พระนางมารีอาบังเกิดมาไม่มีบาปกำเนิด และยังดำเนินชีวิตถือตามพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าอย่างครบถ้วน ไม่กระทำบาป อีกทั้งได้ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าตั้งแต่ยังเด็ก โดยตั้งใจว่าจะถือพรหมจรรย์ แต่พระเป็นเจ้าก็ทรงมีแผนการโดยการใช้ให้เทวดาคาเบรียลมาแจ้งแก่แม่พระว่า พระนางจะตั้งครรภ์และกำเนิดบุตรชาย และให้ตั้งชื่อว่า “ เยซู ” พระนางมารีอาถามว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะพระนางยังเป็นพรหมจารีอยู่ เทวดาตอบว่าการตั้งครรภ์นั้น มิได้เกิดตามธรรมชาติฝ่ายเนื้อหนัง แต่เกิดจากฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า เด็กที่เกิดมาจะเป็นพระผู้ไถ่โลก พระนางมารีจึงตอบว่า “ ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้าตามวาทะของท่าน ” ( ลก.1:38 ) แล้วนั้นพระวจนาตถ์ก็ทรงรับเอากาย และมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา ( ยน. 1: 34 )
ความสุภาพ นอบน้อมเชื่อฟัง พระนางมารีอามีความสุภาพ นอบน้อมเชื่อฟังน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า อันเป็นฤทธิ์กุศลที่บรรดาคริสตชนพึงมี พระเยซูเจ้าสอนเราให้แสวงหาน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า ก่อนอื่นใด แล้วที่เหลือ พระเป็นเจ้าจะแถมให้แก่เราเอง หมายถึง จัดการทุกสิ่งทุกอย่างแก่เราเอง คริสตชนยินดีรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความนอบน้อมราบเรียบ ด้วยความไว้วางใจในพระเป็นเจ้า ความรัก การยินดีเสียสละน้ำใจตนเอง เพื่อรับน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้ามาเป็นอันดับหนึ่งในชีวิตคริสตชน เพราะรักพระเป็นเจ้า พระนางจึงยอมรับทุกอย่างเพื่อให้สำเร็จตามแผนการไถ่บาปมนุษย์ของพระเป็นเจ้า

คริสตชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกอบกู้มนุษยชาติให้กลับมาเป็นลูกของพระ พระนางมารีอาได้ร่วมมือกับพระเป็นเจ้า ไม่ว่าจะมีความยากลำบากสักเพียงใดอยู่ในเหตุการณ์นี้ ฯลฯ ความดีและฤทธิ์กุศลที่พระนางมารีอาเสียสละ พระเยซูเจ้าทรงตอบแทน และคืนความดีทุกอย่างแด่แม่ของพระองค์ นั่นคือ โดยการยกเอาพระนางมารีอาไปสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ

บัดนี้เราเชื่อว่า พระนางมารีอาประทับอยู่บนสวรรค์กับพระเยซูเจ้าพระบุตรของพระนาง แต่พระนางก็ยังทรงรักและเมตตาพวกเราทุกคน ลูกๆ ของพระนาง ด้วยว่า แทบเชิงกางเขน ก่อนพระเยซูสิ้นพระชนม์บรรดาสานุศิษย์ต่างกลัว และหนีไปหมด แต่พระแม่กลับยืนอยู่แทบกางเขนกับนักบุญยอห์น ณ ที่นั่น พระเยซูเจ้ามองลงมาจากกางเขน แล้วตรัสว่า “ สตรีเอ๋ย นี่แน่ะ ลูกของท่าน ” และตรัสแก่ศิษย์นั้นว่า “ นี่แน่ะ แม่ของเจ้า ” ตั้งแต่นั้นมาศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางไปอยู่ที่บ้านของตนเป็นเสมือนคำที่พระเยซูเจ้ามอบชาวเราทุกคนให้เป็นลูกของแม่พระ และให้แม่พระดูแลรับเราเป็นลูกของพระนาง เป็นผู้เสนอวิงวอนตามคำภาวนาของเราที่มีต่อพระเป็นเจ้า แท้จริงคริสตชนมิได้นมัสการพระนางมารีอา แทนพระเจ้า แต่ใช้คำว่า “ ศรัทธาภักดี ” ด้วยความเชื่อเก่าแก่ที่สืบทอดมาทางธรรมประเพณี ( Tradition ) ว่าพระนางเป็นผู้นำคำภาวนาของเราไปทูลขอต่อพระเป็นเจ้าเพื่อเราด้วยว่า คริสตชนรำลึกถึงความต่ำต้อย และไม่สมควรของเรา

คำภาวนาอาศัยพระนางมารีอาย่อมสมควรกว่า ความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารีอาที่ถูกต้องก็คือ พระนางจะพาลูกๆ ของพระนางทุกคนไปหาพระเจ้า “ เข้าหาพระเยซูเจ้าผ่านทางแม่พระ ” เป็นคำพูดเตือนใจเราคริสตชนอยู่เสมอ การแสดงความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารีอาอาจสามารถแสดงออกได้หลายอย่างเช่น

1)การสวดภาวนา

2)การทำนพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์

3)การแห่พระรูปแม่พระ

4)การประพฤติเลียนแบบฤทธิ์กุศลอันดีงามต่างๆ ของแม่พระ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น